ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ ปล่อยนานเป็นมะเร็งได้
คลินิกเบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ
โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
ต่อมไทรอยด์ คือ
ต่อมที่อยู่ด้านหน้าลำคอ กรณีที่มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์จะเห็นเป็นก้อนเดี่ยว ๆ บางครั้งอาจเห็นเป็นหลาย ๆ ก้อน และสังเกตได้ง่าย เนื่องจากก้อนที่ต่อมไทรอยด์จะขยับเคลื่อนขึ้น-ลงเวลากลืนน้ำลาย ส่วนใหญ่ไม่มีอาการและมักพบเป็นก้อนเดี่ยว ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เมื่อสังเกตพบว่ามีก้อนเกิดขึ้นบริเวณลำคอ ก้อนมักมีขนาดโตกว่า 1 เซนติเมตร แต่หากตรวจพบโดยการตรวจต่อมไทรอยด์ด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์จะสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ก้อนขนาดเล็กๆสาเหตุของก้อนที่ต่อมไทรอยด์
แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ก้อนที่ไม่ใช่เนื้อร้าย และก้อนที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง1. ก้อนที่ไม่ใช่เนื้อร้าย ได้แก่
- ก้อนซีสต์หรือถุงน้ำ ลักษณะภายในก้อนจะมีของเหลวอยู่
- เนื้องอกชนิดธรรมดา เป็นเนื้องอกที่เกิดภายในเนื้อต่อมไทรอยด์ ส่วนใหญ่ก้อนมักมีขนาดไม่โตมาก และไม่ทำให้เกิดการกดเบียดอวัยวะข้างเคียง
- ก้อนที่เกิดขึ้นจากการอักเสบของต่อมไทรอยด์หรือการติดเชื้อ เช่น ก้อนฝีหรือหนอง
อาการของก้อนที่ต่อมไทรอยด์
โดยทั่วไปก้อนที่ต่อมไทรอยด์มักไม่มีอาการ เป็นการตรวจพบโดยบังเอิญทั้งจากตัวผู้ป่วยเอง จากแพทย์ หรือจากการตรวจภาพถ่ายทางรังสี ความชุกของมะเร็งต่อมไทรอยด์ในผู้ป่วยที่มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ พบเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4 - 7 ทั้งนี้ไม่ขึ้นอยู่กับขนาดและจำนวนก้อน ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งไทรอยด์พบเท่ากันทั้งในก้อนเดี่ยวหรือหลายก้อน ส่วนใหญ่ผู้ที่ตรวจพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์มักมีการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนในระดับปกติ แพทย์จะทำการสั่งตรวจเลือดเพิ่มเติมเฉพาะในผู้ป่วยบางราย เมื่อตรวจพบว่ามีก้อนของต่อมไทรอยด์ แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุของก้อน และเน้นความสำคัญเกี่ยวกับประวัติที่บ่งชี้ถึงมะเร็งไทรอยด์ เช่น ประวัติก้อนโตเร็ว อาการที่เกิดจากการกดเบียด เช่น อาการเสียงแหบ กลืนลำบาก แน่นอึดอัดลำคอเวลานอนหงาย เป็นต้น แพทย์จะแนะนำให้ตรวจชิ้นเนื้อด้วยเข็มขนาดเล็ก เพื่อแยกว่าสาเหตุของก้อนเป็นจากอะไรแนวทางการวินิจฉัยและการรักษา
การตรวจทางเซลล์วิทยาด้วยเข็มขนาดเล็กเป็นวิธีที่แม่นยำ ดังนั้น ผู้ป่วยทุกรายที่มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ควรได้รับการตรวจ วิธีดังกล่าวสามารถทำได้โดยการเจาะชิ้นเนื้อด้วยการคลำด้วยมือ หรือการเจาะชิ้นเนื้อใช้เครื่องอัลตราซาวนด์นำทาง การตรวจโดยใช้เครื่องอัลตราซาวนด์จะช่วยให้ได้ผลชิ้นเนื้อเพียงพอมากขึ้น การเจาะชิ้นเนื้อใช้เครื่องอัลตราซาวนด์นำทางจะใช้กรณีที่คลำก้อนได้ไม่ชัดเจน ก้อนอยู่ทางด้านหลังของต่อมไทรอยด์ ผู้ที่มีก้อนหลายก้อน ก้อนที่มีลักษณะน้ำปนเนื้อ และผู้ที่คอสั้น หรือกล้ามเนื้อคอมาก นอกจากการตรวจทางเซลล์วิทยาด้วยเข็มขนาดเล็กช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคแล้ว ยังสามารถช่วยในการรักษาได้ในกรณีที่ก้อนนั้นเป็นถุงน้ำหรือก้อนซีสต์ โดยช่วยดูดหรือระบายน้ำออกจากก้อน ทำให้ก้อนมีขนาดเล็กลงได้การรักษาโรคก้อนที่ต่อมไทรอยด์
แนวทางการรักษาก้อนที่ต่อมไทรอยด์มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุของก้อนนั้นๆ โดยแต่ละวิธีมีข้อดีและข้อด้อยต่างกัน การเลือกวิธีรักษาจึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาระหว่างแพทย์และผู้ป่วย เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีแนวทางในการรักษาหลักๆ ดังต่อไปนี้- เฝ้าติดตามขนาดของก้อนและตรวจชิ้นเนื้อซ้ำในระยะ 1 - 2 ปีแรก และควรตรวจซ้ำทันทีเมื่อมีอาการสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งของต่อมไทรอยด์ เช่น ก้อนโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และตรวจพบมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต เป็นต้น
- การรักษาด้วยการให้ยาไทรอยด์ฮอร์โมนเพื่อกดให้ระดับ TSH ต่ำกว่าค่าปกติ โดยหวังผลให้ก้อนมีขนาดเล็กลง วิธีนี้ไม่แนะนำในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการได้ยา เช่น มีภาวะกระดูกพรุน หรือมีประวัติหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเต้นเร็วกว่าปกติ เนื่องจากผู้ป่วยมีโอกาสที่จะตอบสนองต่อยาและส่งผลให้ก้อนมีขนาดเล็กลงเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น
- การรักษาด้วยการผ่าตัด กรณีเป็นมะเร็งจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดเป็นขั้นแรก โดยจะพิจารณาตัดก้อนของต่อมไทรอยด์ร่วมกับการตัดต่อมไทรอยด์ออกบางส่วนหรือทั้งหมด ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนและชนิดของมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดนั้นๆ หลังจากนั้นจึงพิจารณาให้การรักษาร่วมอื่นๆ เช่น การรักษาด้วยไอโอดีนรังสีขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็งแต่ละชนิด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลิก!! คลินิกเบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ ชั้น 4 โซน D
ขอขอบคุณ ต้นฉบับบทความ