โรคนิ่วทางเดินปัสสาวะป้องกันได้แค่เรารู้สาเหตุของโรค
บทความโดย
นพ.วิศัลย์ อนุตระกูลชัย
ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ
ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นิ่วเป็นโรคที่พบบ่อยในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน เพศชายเป็นมากกว่าเพศหญิงถึง 3 เท่า โดยเฉพาะช่วงอายุ 30-60 ปี ทั่วไปผู้ที่เป็นโรคนิ่วแล้ว พบว่าร้อยละ 50 มีโอกาสเกิดนิ่วซ้ำในเวลา 5 ปี และร้อยละ 60 ภายในเวลา 7 ปี นิ่วเป็นสาเหตุของการอุดตันและการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยเกิดการเจ็บปวดทุกข์ทรมานและอาจนำมาสู่ภาวะไตวายเรื้อรัง
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค
1. ความผิดปกติในขบวนการเผาผลาญในร่างกาย2. การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
3. การเสียสมดุลของน้ำและสารที่ละลายอยู่ในปัสสาวะ ทำให้เกิดการตกผลึกของสารสะสมมากขึ้นรวมตัวกันกลายเป็นก้อนนิ่ว เช่น คนที่อยู่ในเขตร้อน หรือทำงานกลางแจ้ง
4. ร่างกายได้รับน้ำไม่เพียงพอ ดื่มน้ำน้อย
5. การรับประทานอาหารที่มีสารออกซาเลท (Oxalate) ซึ่งเป็นสารก่อนิ่ว พบมากในกะหล่ำปลี มันฝรั่ง ผักโขม ผักกะโดน มะเขือเทศ องุ่น ส้ม กล้วย หรือทานอาหารที่มีกรดยูริคมากเกินไป เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ กะปิ หน่อไม้ฝรั่ง ยอดผัก
อาการที่พบขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดนิ่ว
นิ่วในไตและท่อไต จะปวดบีบในตำแหน่งของไตและแนวท่อไต อาจมีปัสสาวะเป็นเลือดร่วมด้วย ถ้ามีการติดเชื้อ จะมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดบั้นเอว ปัสสาวะขุ่นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ขณะถ่ายปัสสาวะยังไม่ทันจะสุด สายปัสสาวะจะหยุดทันที ปวดหัวเหน่า ต้องเบ่งปัสสาวะมาก อาจมีเลือดออกเวลาปัสสาวะสุด
นิ่วในท่อปัสสาวะ ปัสสาวะไม่ออก แสบขัด หรือเป็นหยดๆ ปวดร้าวไปที่ปลายท่อปัสสาวะ อาจมีหนองออกทางท่อปัสสาวะ
วิธีการรักษา การรักษาผู้ที่เป็นนิ่วมีหลายวิธี ได้แก่
1. ติดตามอาการ ในกรณีที่นิ่วมีขนาดเล็ก2. รักษาโดยการใช้ยา
- การใช้ยาควบคุมการเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะ
- การใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย ในกรณีที่มีการอักเสบติดเชื้อ
3. การรักษาโดยการผ่าตัด
- การสลายนิ่วโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (ESWL)
- การส่องกล้องทางท่อปัสสาวะไปตามท่อไตเพื่อเอานิ่วในท่อไตออก (URS)
- การส่องกล้องผ่านผิวหนังเพื่อขจัดนิ่วในไต (PCM)
- การทำผ่าตัดแบบเปิด ในคนที่มีนิ่วขนาดใหญ่ที่ใช้วิธีข้างต้นไม่ได้ผล (Open Surgery)
ความรุนแรงของโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
1. การอุดตัน ทำให้เกิดไตบวมน้ำและการทำงานของไตแย่ลง มีของเสียคั่งในกระแสเลือด จนเกิดภาวะไตวายในที่สุด(ถ้าไม่รักษา)2. การบาดเจ็บ จากการครูดของก้อนนิ่วกับผนังเซลล์ของเนื้อไตและท่อไตจนเป็นแผล จนมีเลือดปนออกมากับน้ำปัสสาวะ
3. การติดเชื้อ จากการอุดตันของก้อนนิ่ว
การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการเป็นนิ่ว
เนื่องจากโรคนี้เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข ประชาชนทุกคนมีโอกาสเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ และผู้ที่เคยได้รับการวินิจฉัยโรคว่าเป็นนิ่วระบบทางเดินปัสสาวะแล้ว ย่อมมีโอกาสเกิดซ้ำได้อีก การป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ1. ดื่มน้ำมาก ๆ ให้ปัสสาวะเจือจางลง วันละ 2-3 ลิตร/วัน หรือ 10-16 แก้ว/วัน น้ำที่ดื่มควรปราศจากเศษตะกอน ถ้าจะใช้น้ำที่มาจากห้วย หนอง คลอง บึง บ่อ ควรแก้ความกระด้างและผ่านกรรมวิธีให้ตกตะกอนเสียก่อน เช่น แกว่งสารส้ม และทำให้สะอาดโดยการต้ม
2. รักษาสุขภาพอนามัยให้แข็งแรงอยู่เสมอ ให้มีการเคลื่อนไหว โดยการออกกำลังกาย เพื่อป้องกันการตกตะกอน ซึ่งอาจทำให้เกิดนิ่วได้
3. อย่ากลั้นปัสสาวะ ให้ถ่ายปัสสาวะเมื่อรู้สึกปวดเพื่อลดการคั่งค้างของปัสสาวะที่จะก่อให้เกิดการตกตะกอน และส่งผลให้เกิดเป็นนิ่วได้
4. นิ่วที่เกิดจากปัสสาวะที่เป็นกรด เช่น ยูริค แพทย์จะรักษาโดยให้ยาเพื่อให้ปัสสาวะเป็นด่าง ควรลดอาหารจำพวกเครื่องในสัตว์ กุ้งแห้ง กะปิ รับประทานผลไม้และผักให้มากขึ้น
5. นิ่วที่เกิดจากปัสสาวะที่เป็นด่าง เช่น แคลเซียม ฟอสเฟสและคาร์บอเนต ช่วยได้โดยทำน้ำปัสสาวะให้เป็นกรด ควรลดอาหารประเภทนม เนยและวิตามินดี
6. พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานยาวิตามินที่แพทย์สั่ง
7. สังเกตการเปลี่ยนแปลงของตัวเองเกี่ยวกับการขับถ่ายปัสสาวะและอาการปวด เช่น ถ่ายปัสสาวะกระปริดกระปรอย ปวดท้อง ปวดหลัง ปัสสาวะเป็นเลือด หรือปัสสาวะมีสีน้ำล้างเนื้อ
8. ควรพบแพทย์สม่ำเสมอตามที่แพทย์นัดหรืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อติดตามผลการรักษา ถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆก็ตาม เพื่อสืบหาอาการผิดปกติที่ไม่แสดง
ข้อมูลอ้างอิง
http://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-385
https://www.rcemlearning.co.uk/reference/renal-colic/