อัตราการเสียชีวิตที่สูงจากโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเพราะมาพบแพทย์ในระยะลุกลามแล้ว
บทความโดย
นพ. นิพพิชฌน์ พรหมมี
แพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินอาหาร
ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มะเร็งกระเพาะอาหารในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นมะเร็งชนิดที่เปลี่ยนแปลงมาจากเยื่อบุผิว (Adenocarcinoma) จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี 2559 พบผู้ป่วยใหม่ราว 3.6 ราย และ 2.5 ราย ต่อประชากรแสนคน ในเพศชายและหญิงตามลำดับ (Estimated Age-standardized incidence rate) หรือคิดเป็นร้อยละ 1.72 ของผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ พบมากขึ้นชัดเจนในช่วงอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ลักษณะรอย โรคในกระเพาะอาหาร อาจพบเป็นแผล ก้อนนูน หรือการหนาตัวผิดปกติของเยื่อบุผิว ถึงแม้ว่าไม่ใช่มะเร็งที่พบบ่อยอันดับต้น ๆ ของประเทศ แต่มีอัตราการเสียชีวิตที่สูง เพราะผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ในระยะลุกลามของตัวโรคแล้ว
อาการและอาการแสดงของมะเร็งกกระเพาะอาหาร
พบได้ตั้งแต่ไม่มีอาการใดๆ (มักเจอในระยะแรก) มีอาการปวดท้องใต้ลิ้นปี่ แสบร้อน อืดแน่นท้อง โดยเฉพาะหลังทานอาหาร อิ่มเร็ว ทานได้น้อยลง หรือจนกระทั่งมีอาการของสัญญาณเตือนที่น่ากังวล (Alarming symptoms) เช่น ถ่ายดำ ซีด เพลีย มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก อาเจียนบ่อยมาก น้ำหนักลดลงอย่างชัดเจน คลำได้ก้อนที่หน้าท้อง เป็นต้นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
1. การรับประทานอาหารที่มีวัตถุกันเสียเป็นประจำ วัตถุกันเสียประเภทโซเดียมไนเตรทและโซเดียมไนไตรท์ เมื่อผ่านปฏิกิริยาในร่างกายจะเปลี่ยนเป็น “สารไนโตรซามีน” ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง มักพบในอาหารประเภทหมักดอง อาหารกระป๋อง อาหารประเภทปิ้งย่าง และอาหารจำพวกเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น หมูยอ แฮม ไส้กรอก กุนเชียง แหนม เป็นต้น2. การติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (H.pylori หรือ Helicobacter pylori) การติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ในกระเพาะ ส่วนหนึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุกระเพาะอาหาร จนกระทั่งเกิดการฝ่อของเยื่อบุและเกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าความชุกของการติดเชื้อชนิดนี้ในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 40-50 แต่ความชุกของโรคมะเร็งกระเพาะกลับต่ำ ไม่สอดคล้องกัน คาดว่าน่าจะมีผลจากปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น ชนิดหรือสายพันธุ์ของเชื้อ ปฏิกิริยาการตอบสนองของร่างกายต่อการติดเชื้อ เป็นต้น
3. มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
4.โรคที่มีความผิดปกติของสารพันธุกรรม (พบน้อยมาก) เช่น โรค Lynch syndrome, Familial adenomatous polyposis , Peutz-Jeghers syndrome ซึ่งไม่ขอกล่าวในรายละเอียด ณ ที่นี้
การวินิจฉัย
สามารถทำได้โดยการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน (Esophagogastroduodenoscopy, EGD) เป็นการตรวจที่มีความแม่นยำสูง ทำได้ไม่ยุ่งยาก สามารถตัดชื้นเนื้อบริเวณที่น่าสงสัยไปตรวจ และสามารถตรวจว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ด้วยหรือไม่สำหรับการตรวจหาการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์นั้น สามารถทำได้อีกวิธีหนึ่ง คือ การตรวจทางลมหายใจ (Urea breath test, UBT) เป็นวิธีที่ให้ผลตรวจที่แม่นยำเช่นกัน
ผู้ที่ปวดท้องโรคกระเพาะอาหาร หากมีลักษณะดังต่อไปนี้ ควรได้รับการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน
1. อายุที่เริ่มมีอาการครั้งแรก ตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
2. มีสัญญาณเตือนที่น่าสงสัยมะเร็งกระเพาะอาหาร (Alarming features) ได้แก่
2.1 ภาวะเลือดออกทางเดินอาหาร
2.2 ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
2.3 มีอาการอิ่มเร็วกว่าปกติอย่างชัดเจน (รับประทานอาหารได้น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของที่เคยรับประทานปกติ ก็รู้สึกอิ่ม รับประทานต่อไม่ได้
2.4 น้ำหนักลดลงมากกว่าร้อยละ 10 โดยที่หาสาเหตุอื่น ๆ ไม่พบ
2.5 อาเจียนตลอดเวลา (มากกว่า 10 ครั้งใน 24 ชั่วโมง หรืออาเจียนหลังรับประทานอาหารแต่ละมื้อ) โดยไม่ทราบสาเหตุ
2.6 มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
3. อาการไม่ดีขึ้นหลังได้รับการรักษาที่เหมาะสมแล้ว
คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป
ควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ไม่รับประทานอาหารกลุ่มที่มีสารก่อเกิดมะเร็งดังกล่าวข้างต้นเป็นประจำ และหากมีอาการของสัญญาณเตือนที่น่าสงสัยมะเร็งกระเพาะอาหาร หรืออาการยังไม่ดีขึ้นหลังได้รับการรักษา ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมข้อมูลอ้างอิง
http://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-407
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/stomach-cancer/symptoms-causes/syc-20352438