การตรวจมวลกระดูกรู้เร็วป้องกันได้
บทความโดย
นพ.ไพสิทธิ์ วรปาณิ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ข้อเข่า ข้อสะโพก
ที่มา HealthToday Magazine, No.209 September 2018
“คุณหมอครับ…คุณแม่ไปเดินงานออกบูธเกี่ยวกับสุขภาพมา เขามีวัดมวลกระดูกที่เท้า แล้วผลออกมาเป็นลบ ตัวเลขเท่าไรผมจำไม่ได้ ไม่ทราบว่าจะเป็นอะไรไหมครับ” นี่เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ผมได้รับฟังบ่อย ๆ ในวันที่ตรวจคนไข้ คำถามนี้ก็คงต้องถามหมอกระดูกนั่นแหละครับ มาหาหมอกระดูกจะให้มาถามเรื่องกระเพาะเรื่องปอดหรือครับ คนไข้คงคิดอย่างนั้น ฮ่า ๆ ๆ ได้เลยครับ งั้นวันนี้เรามาดูเรื่อง ‘ค่ามวลกระดูก’ นี้กันดีกว่าครับอย่างแรกเลย ผมขอเปรียบเทียบง่าย ๆ ให้เห็นภาพกันก่อนนะครับ ผมชอบเปรียบเทียบโครงสร้างร่างกายของคนเราเหมือนกับตึก กระดูกก็คงเป็นพวกเสา ขื่อ หรือโครงสร้างที่รองรับน้ำหนักให้ตึกคงอยู่ได้ เสาหรือพวกโครงสร้างปูนเมื่อใช้ไปนาน ๆ ก็ย่อมผุกร่อนเป็นธรรมดา ทำให้ตึกพังได้ง่ายหรือถึงขั้นล้มลง เหมือนเวลาเราอายุมากขึ้น กระดูกก็จะเกิดการกร่อนหรือผุตามธรรมชาติได้
ทีนี้ก็กลับมาเรื่องกระดูกของเราจริง ๆ บ้างนะครับ ร่างกายมนุษย์ กระดูกที่ถือว่าเป็นแกนของร่างกาย ทำให้เราทรงตัวเดินไปไหนมาไหนทำอะไรได้ ก็คงจะเป็น ‘กระดูกสันหลัง’ กับ ‘กระดูกสะโพก’ เป็นหลักนะครับ ส่วนมือและเท้าเรามักเรียกว่าเป็นระยางค์ไว้หยิบจับอะไรมากกว่า ดังนั้นเราจึงเน้นว่า กระดูกสันหลังและกระดูกสะโพกนั้นสำคัญ ถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดเกิดพรุนหรือทรุดขึ้นมา จะทำให้เราใช้ชีวิตกันลำบาก
อย่างสมัยก่อนเรามักเห็นคนอายุมาก ๆ เดินหลังค่อมกันบ่อย ๆ หรือเดินกะเผลกใช่ไหมครับ เราจึงนึกว่าถ้าคนเราอายุมากขึ้นหลังจะค่อมเป็นธรรมชาติ แต่เดี๋ยวนี้เรารู้แล้วว่าหลังค่อมเกิดจากกระดูกสันหลังที่เป็นปล้อง ๆ ทรุดตัวลงจากการที่กระดูกเกิดการกร่อนทางธรรมชาติ (ในร่างกายคนเราตามธรรมชาติจะมีการสร้างและทำลายอยู่ตลอดทุกช่วงอายุนะครับ แต่ในคนอายุมาก การทำลายจะมากกว่าการสร้าง) คล้าย ๆ กับตึกที่เสาพังแล้วทรุดตัวลงนั่นแหละครับ
คราวนี้เขาก็ศึกษากันว่า ทำอย่างไรเราจึงจะรู้ว่ากระดูกของเราพรุนหรือทรุดลงมากน้อยแค่ไหน เลยมีวิธีวัดมวลรวมของกระดูกในร่างกาย (Bone Mass Index) เป็นค่าตัวเลขออกมา ซึ่งค่าที่วัดออกมาเป็นค่าที่เกิดจากการรวบรวมข้อมูลของประชากรทั่วไปแล้วนำมาวิเคราะห์ ส่วนใหญ่ถ้าเป็นการวัดโดยละเอียดจะวัดที่กระดูกสันหลังและสะโพกครับ แต่บางครั้งเราอาจจะเห็นการวัดที่กระดูกข้อมือหรือข้อเท้า ซึ่งจะได้ค่าออกมาเป็นตัวเลขแบบคร่าว ๆ โดยค่าที่ออกมาจะมี 2 ค่า คือ ค่าที่เรียกว่า Z score และ T score
- Z score เกิดจากเอาค่าตัวเลขมวลกระดูกในช่วงอายุเท่ากันกับเรามาเปรียบเทียบกัน แล้วดูว่ามวลกระดูกเราแย่กว่าหรือดีกว่าเป็นตัวเลขบวกลบออกมา
- T score เป็นค่าที่เปรียบเทียบกับคนอายุช่วง 30 ปี ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าคนสูงอายุตรวจ ค่าจะออกมาเป็นลบอยู่แล้ว เพราะกระดูกคนสูงอายุย่อมต้องพรุนกว่าหนุ่มสาวเป็นธรรมดา เพียงแต่เราจะดูว่าพรุนมากหรือน้อย โดยทั่วไปตัวเลขจะมาเป็นช่วง ๆ
- ถ้าอยู่ในช่วง 0 ถึง -1 ถือว่า ปกติ
- ถ้าอยู่ในช่วง -1 ถึง -2.5 ถือว่า กระดูกบาง
- ถ้าต่ำกว่า -2.5 ถือว่า กระดูกพรุน โอกาสที่ล้มลงแล้วกระดูกจะหักง่ายมีมากกว่าปกติ
ถ้าอ้างอิงจากที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO แนะนำ ผู้ที่ควรตรวจมวลกระดูก ได้แก่ ผู้หญิงอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือชายอายุ 70 ปีขึ้นไป หรือถ้าหญิงวัยหมดประจำเดือนอายุน้อยกว่า 65 ปี แต่มีภาวะต่าง ๆ เช่น เคยล้มไม่แรงแล้ว กระดูกหัก หรือมีบางโรค เช่น รูมาตอยด์ ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือรับประทานยาพวกสเตียรอยด์เป็นประจำ หรือมีญาติพี่น้องสายตรงเป็นโรคกระดูกพรุน พวกนี้ก็ควรมารับการตรวจมวลกระดูกนะครับ
โรงพยาบาลทั่วไปจะมีเครื่องตรวจนี้ การตรวจก็ง่าย ๆ คล้ายการทำเอกซเรย์ทั่วไป ไม่เจ็บปวดอะไรครับ แต่ถึงผล ออกมาเป็นลบก็ไม่ต้องตกใจ เพราะนี่เป็นค่าตัวเลขเฉย ๆ เรายังสามารถป้องกันหรือชะลอการเสื่อมลงของกระดูกได้ เช่น การออกกำลังกาย กินอาหารที่มีแคลเซียม วิตามินดี ก็จะช่วยเสิรมการสร้างกระดูกได้ครับ
ช่วงนี้จะเห็นว่าคนเราเริ่มใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีนะครับที่เราได้ป้องกันอะไรไว้ก่อน โรคบางอย่าง ถ้ารู้ได้เร็วก็ยิ่งสามารถรักษาหรือชะลออาการได้เลยครับ จึงอยากให้ทุกคนลองหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจครับ
ขอบคุณที่มาบทความ www.healthtodaythailand.in.th
[โปรดแชร์ บทความนี้ ให้กับคนที่คุณรักและเป็นห่วงที่สุดด้วย นะครับ]