เมื่อเราเข้าใจกฎเกณฑ์ของอารมณ์ทั้ง 5 อย่าง เราก็จะสามารถจัดการกับอารมณ์ทุกชนิดได้
เรียนรู้เรื่องการจัดการอารมณ์อันเป็นรากฐานสำคัญที่สุดในการจัดการดำเนินชีวิต ตอนที่ 2
หัวข้อบรรยาย : กลวิธีฝึกจัดการอารมณ์ ช่วงบรรยายเนื้อหาบรรยายโดย : อาจารย์นายแพทย์ ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล
(จิตเวชศาสตร์ทั่วไป ศิริราชพยาบาล)
ที่มาคลิป : ปลดล็อกกับหมอเวช
เว็บไซต์ : https://www.morprawate.com
อารมณ์ความรู้สึกไม่ได้เป็นผลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เป็นผลของการตีความหรือเป็นผลของการคิดในขณะนั้น
สมาชิกท่านหนึ่งในกลุ่ม Facebook กลุ่มปิด แก้ซึมเศร้าแบบไม่ใช้ยา เขียนขึ้นมาในโพสต์ว่า มีใครที่มีประสบการณ์แบบนี้ไหม อยู่ ๆ ก็คิดอยากฆ่าตัวตายโดยไม่มีสาเหตุ นะครับ แล้วก็มีคนเข้ามา ทั้งในแง่ของการแบ่งปันประสบการณ์ ให้ข้อคิด นะครับ แต่ถ้าคุณลองจินตนาการตัวคุณเองนะครับว่า อยู่มาวันหนึ่ง คุณมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย โดยที่คุณไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร คุณคงจะรู้สึกกลัวสิ่งที่อยู่ในใจของคุณได้เลย นะครับ เพราะทุก ๆ คนไม่มีใครอยากตาย นะครับ แต่อยู่ ๆ ความอยากตายมันก็โผล่เข้ามาในใจเหมือนกับมันไม่มีกระบวนการ ลอยมาอย่างนั้นน่ะ นะครับ
สาเหตุที่เรามองไม่เห็นอารมณ์ เพราะเราไม่มีเครื่องมือและวิธีการสังเกต
แต่ผมมีสมมติฐานครับ แล้วก็ถ้าสมาชิกท่านนี้มีโอกาสคุยด้วย ผมก็จะค่อย ๆ สำรวจสิ่งที่เกิดขึ้นข้างในใจของเขา เพื่อทำให้เขาเห็นในเบื้องต้นว่า ความคิดอยากตายไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ แต่มันมีที่มาที่ไป แต่สาเหตุที่เรามองไม่เห็น แล้วไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ก็เพราะว่า เราไม่มีวิธีการ ไม่มีเครื่องมือและก็ไม่มีการสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจของเรา เมื่อไม่ได้สังเกต เราก็มองไม่เห็น มองไม่เห็น เราก็เห็นแต่ผลลัพธ์ปลายทาง ก็คือ เกิดอยากตายขึ้นมาล่ะ แล้วก็ตกใจนะครับ ผมเชื่อว่าเขาต้องมีความรู้สึกสับสน ในความรู้สึกท้อใจ เพราะใจเขาทำงานโดยที่เขาควบคุมไม่ได้ แต่ในมุมตรงข้าม ถ้าเราเพียงแต่มีเครื่องมือมีวิธีการ แล้วก็หมั่นสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นข้างในใจของเรา เราก็จะเริ่มเข้าใจที่มาที่ไป แล้วเราก็จะเริ่มเห็นว่า มันไม่ได้ลอยขึ้นมาเฉย ๆ ครับมันมีกระบวนการภายในใจของเรา เพียงแต่เรามองไม่เห็นมัน เพราะเราไม่มีวิธีการในการสังเกตดูมันนะครับ ที่แน่ ๆ ก็คือ เวลาที่คน ๆ หนึ่ง มีความคิดเช่นนี้ผุดขึ้นมาหรืออาจจะบอกว่า อยู่ ๆ ก็เศร้าโดยไม่มีสาเหตุ อยู่ ๆก็กลัวโดยไม่มีสาเหตุเนี่ยนะครับ เขาไม่มีโอกาสได้แยก 3 อย่างออกจากกันครับ อันนี้เป็นขั้นที่ 1 ในการมองเลยนะครับ เขาไม่มีโอกาสแยกแยะระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอก ก้อนประสบการณ์ภายในใจของเขา ซึ่งมีรายละเอียดเยอะมากนะครับ แล้ววันนี้ จะลงบางส่วนกับสิ่งที่เขาทำ เฉพาะแค่นี้นะครับ คนส่วนใหญ่เห็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นกับอารมณ์ และก็สิ่งที่เขาทำ บางคนสิ่งที่เกิดขึ้น และก็สิ่งที่เราทำ นะครับ เหมือนกับข้างในใจเรา ไม่มีอะไร มีอะไรเกิดขึ้นปุ๊บ เราทำอกไปเลย
ดังนั้น คนก็เลยไม่รู้ว่า อารมณ์ มันคืออะไร เพราะว่าไม่มีเครื่องมือ ไม่มีกระบวนการในการสังเกต ก้อนประสบการณ์ภายในใจ ภายในร่างกายของเรา นะครับ แต่นี่ก็เป็นโจทย์ที่น่าเห็นใจมาก เพราะมันทำให้คนจำนวนมาก มีสภาวะที่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นข้างในใจ เพราะขาดเครื่องมือและวิธีการในการจัดการสิ่งที่อยู่ภายในใจนะครับ
เพราะฉะนั้น ผมก็จะพูดถึงกฎเกณฑ์ของอารมณ์ 5 ข้อ ในวันนี้ ซึ่งก็อย่างที่ผมโพสต์ไว้นะครับว่า กฎเกณฑ์ 5 ข้อนี้เนี่ย เป็นกฎเกณฑ์ที่ผมแฝงไว้ในกระบวนการจัดอบรม ในการจัดการอารมณ์ต่าง ๆ แฝงไว้ในกระบวนการช่วยเหลือคน และก็แฝงไว้ในการจัดการพื้นฐานอารมณ์ที่จัดเป็นการเรียนรู้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ด้วยนะครับ
เรามาลองฟังดูนะครับ ในกฎเกณฑ์ 5 ข้อนี้ ต้องย้ำว่าอารมณ์แต่ละชนิดมีรายละเอียดของการจัดการไม่เหมือนกัน โกรธ กลัว เศร้า เหงา ไม่เหมือนกัน นะครับ แต่อารมณ์ทุกชนิดมีกฎเกณฑ์ 5 ประการนี้กำกับอยู่นะครับ ดังนั้น ถ้าท่านเข้าใจกฎเกณฑ์ 5 ประการนี้ อย่างน้อย ท่านก็จะจัดการอารมณ์ทุกชนิดได้ดีขึ้น แต่ต้องฝึกฝน นะครับ
กฎเกณฑ์ข้อที่ 1 อารมณ์เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานของจิตที่เราสามารถสังเกตได้
กฎเกณฑ์ข้อที่ 1 อารมณ์ เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานของจิตใจ ที่เราสามารถสังเกตได้ นะครับ ผมทวนนะครับ อารมณ์เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานของจิตใจเราที่เราสามารถสังเกตได้ โดยทั่วไป ถ้าเราไม่เรียนรู้ที่จะสังเกตอารมณ์ เวลามีอะไรเกิดขึ้น เราจะรู้สึกแต่ว่า เรารู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเราก็มีแนวโน้มจะพูดหรือทำอะไรออกไป โดยที่ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นในใจของเราบ้าง แต่ถ้าเราหมั่นสังเกต เราจะเห็นว่า อารมณ์เป็นส่วนหนึ่ง และในงานวิจัยทางสมองที่ผมพูดบ่อยมากใน Live ก็คือ เพียงเรารู้ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไร เพราะเราสังเกตเห็นมัน เราก็จัดการอารมณ์นั้นได้แล้วในระดับหนึ่งนะครับการเรียกชื่ออารมณ์ให้ถูกต้อง รู้ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไร มีอารมณ์อะไร ก็เป็นหนึ่งในกระบวนการจัดการ แต่เรามีวิธีการที่ไปได้ไกลกว่านั้นด้วย แต่ทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากการสังเกตอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในใจของเราเองเป็นประจำสม่ำเสมอ ซึ่งในเรื่องนี้ ถ้าเป็นอารมณ์แต่ละอารมณ์ แต่ละคนจะมีกฎเกณฑ์ภายในใจที่จะยอมรับหรือไม่ยอมรับอารมณ์นั้น แล้วทำไมเขาปิดการรับรู้ได้ ตัวอย่างที่ผมยกบ่อย ก็คือ ในคนปฏิบัติธรรมที่เชื่อว่าความโกรธเป็นสิ่งไม่ดี ก็จะไม่ค่อยอยากยอมรับว่าความโกรธเกิดขึ้นภายในใจ เขาจึงมักจะสังเกตไม่เห็นอารมณ์โกรธที่ก่อตัวขึ้น ในนั้นมันมี แม้เราจะหันไปดูมันเราก็อาจจะเผลอเอาเซ็นเซอร์นะครับ เอาตัวบังไปปิดมันได้เหมือนกัน แต่อารมณ์เป็นส่วนหนึ่งภายในใจ ที่สังเกตได้ครับ เราต้องฝึกสังเกต
กฎเกณฑ์ข้อที่ 2 อารมณ์ทุกชนิด เมื่อผ่านมาแล้วจะผ่านไปเสมอ
สอง ก็คือ อารมณ์ทุกชนิด ผ่านมาแล้วจะผ่านไปเสมอ ไม่มีอารมณ์ใดอยู่คงที่ถาวร แม้แต่คนที่เป็นโรคกลัว ก็ไม่ได้กลัวเท่ากันตลอด คนที่เป็นโรคโกรธแล้วคุมตัวเองไม่อยู่ก็ไม่ได้โกรธตลอดเวลาเท่ากัน คนที่เป็นโรคซึมเศร้าก็ไม่ได้มีอาการซึมเศร้าเท่ากันตลอดเวลานะครับ อารมณ์มันจะมาแล้วก็ไป ขึ้นแล้วก็ลงนะครับ การเข้าใจธรรมชาติข้อนี้สำคัญมาก เพราะว่า มันจะทำให้เราฝึกสังเกตการขึ้นลงของอารมณ์ และเริ่มสังเกตเห็นปัจจัยที่ทำให้มันขึ้นกับปัจจัยที่ทำให้มันลงนะครับ ไม่มีใครจะรู้ปัจจัยที่ทำให้มันขึ้นแล้วลงได้ดีเท่ากับเรานะครับ แม้แต่ผมซึ่งเป็นผู้ฝึกตนในการช่วยเหลือคนในการจัดการอารมณ์ เวลาจะช่วยคน ผมยังต้องช่วยผ่านการช่วยเขาสำรวจอารมณ์ที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับลง และดูปัจจัยที่เกี่ยวข้องว่าอะไรเป็นตัวเกิดขึ้นและอารมณ์จึงเกิดขึ้นตามมานะครับ ซึ่งเดี๋ยวจะมีตัวอย่างให้เห็นแบบง่าย ๆ สัก 1 หรือ 2 ตัวอย่างดูนะครับถ้าท่านรู้ความจริงข้อนี้ ที่เป็นกฎเกณฑ์พื้นฐานของอารมณ์ ท่านก็จะรู้ดีว่า ถ้าท่านรับรู้ได้ถึงกระแสความกลัวที่ผุดขึ้นข้างในใจ ท่านก็จะเรียนรู้ว่ามันจะอยู่กับเราสักพักหนึ่งแล้วมันจะผ่านไป หรือความโกรธก็เช่นกัน ความเศร้าก็เช่นกัน ความเศร้าจากการอกหักเสียใจ ผิดหวัง ความโกรธจากการมีคนมาทำให้เราผิดหวังหรือเจ็บปวด ความกลัวในสิ่งที่มาคุกคามอารมณ์ทุกชนิดผ่านมาแล้วจะผ่านไปเป็นธรรมดา แต่การที่อารมณ์อยู่ในใจเรานานหรือว่าอยู่ในใจเราของเราแป๊บเดียว อันนี้ขึ้นอยู่กับการจัดการภายในใจของเราล่ะ ซึ่งอันนี้เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน นะครับ
กฎเกณฑ์ข้อที่ 3 อารมณ์ไม่ได้เป็นผลของสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เกิดจากการตีความของความคิดของเรา
สาม ครับ กฎเกณฑ์ข้อนี้พูดไว้ชัดเจนและสำคัญมากและผมย้ำในทุกครั้งที่มีโอกาส อารมณ์ความรู้สึกไม่ได้เป็นผลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เป็นผลของการตีความหรือเป็นผลของการคิดในขณะนั้น ซึ่งตัวอย่างที่ผมได้รับมาเป็นตัวอย่างที่ดีเวลาที่จัดคลาส ก็คือ หนุ่มคนหนึ่งไปจีบสาวแล้ว เขาไม่ตกลงด้วยนะครับ หนุ่มคนนั้นรู้สึกถึงความเศร้าเสียใจ นะครับ และรู้สึกไม่มีคุณค่า ซึ่งจริง ๆ แล้ว ความรู้สึกไม่มีคุณค่านี้ ไม่ได้เกิดจากการที่ผู้หญิงปฏิเสธรัก แต่เป็นการตีความว่า "การที่เขาปฏิเสธ แสดงว่าเขาปฏิเสธตัวตนของเรา เพราะตัวเราไม่มีคุณค่าพอสำหรับเขา" แต่ถ้าเขาตีความว่า มันไม่ตรงสเปคกัน เขาจะไม่รู้สึกเศร้า ไม่รู้สึกสูญเสียความมีคุณค่าภายในใจ ดังนั้น ความรู้สึกของเราจึงเป็นผลของกระบวนการตีความ กระบวนการทางความคิดภายในใจและกระบวนการจัดการอารมณ์ที่สำคัญมากที่สุด ก็คือ ฝึกหันมาดูว่า เรากำลังมองเรื่องนั้น เรากำลังตีความเรื่องนั้น เรากำลังคิดอะไรอยู่ในใจ ที่ทำให้อารมณ์นั้นเกิดขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นภายนอกเป็นสาเหตุของอารมณ์ แต่เป็นกระบวนการตีความภายในใจของเรา ซึ่งเดี๋ยวจะมีตัวอย่าง นะครับ
[ขอขอบคุณ นายแพทย์ ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล อย่างสูง ไว้ ณ ที่นี้ด้วย]
[ถอดคำบรรยายจากคลิปคุณหมอ โดย หยินหยาง]
[โปรดแชร์ บทความนี้ ให้กับคนที่คุณรักและเป็นห่วงที่สุดด้วย นะครับ]